การแนะแนวอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

สพฐ.เตรียมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสริมทักษะอาชีพให้เด็ก ค้นพบตัวเองเมื่อจบ ม.ต้น หวังส่งไม้ต่อเรียนสายอาชีพกับอาชีวะ วันนี้(12 มี.ค.)ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงวางรากฐานทักษะอาชีพให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เตรียมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเสริมทักษะอาชีพให้เด็กสามารถค้นพบตัวตนได้เมื่อจบชั้น ม.ต้น ด้วยการแนะแนววางพื้นฐานอาชีพและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนควบคู่ไปในแต่ละระดับช่วงชั้น โดยเริ่มจากระดับปฐมวัยที่มีการจัดรูปแบบบูรณาการผ่านประสบการณ์จากนิทาน หรือ เสริมจินตนาการจากอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมีจินตนาการอาชีพในอนาคต ส่วนระดับประถมศึกษามีกิจกรรมสำรวจอาชีพ ระดับ ม.ต้น จะมีการจัดกิจกรรมแนะแนว การสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนรู้จักที่จะวิเคราะห์อาชีพ เชื่อมโยงตนเองกับการศึกษาและอาชีพได้ ส่วนระดับ ม.ปลาย จะมีการพัฒนาทักษะการตัดสินใจการศึกษาต่อ เพื่อเป็นการวัดแววและเตรียมสู่การประกอบอาชีพจริงในอนาคต “นายกฯมีนโยบายว่า ศธ.ต้องให้เด็ก ม.3 ทุกคนฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งปีที่ผ่านมาก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ในปีนี้เรามองว่า จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก โดยปูพื้นฐานให้เด็กค้นพบตัวเอง เมื่อจบ ม.ต้นจะต้องรู้ว่า ชอบหรือถนัดอะไร ซึ่งจะช่วยให้เด็กตัดสินใจได้แล้วว่า จะเรียนต่อสายสามัญหรือสายอาชีพ ไม่ต้องรอให้อาชีวะมาดึงเด็กเรา แต่เราจะเตรียมความพร้อมให้ ”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สพฐ.จะเริ่มดำเนินการเรื่องการแนะแนวพื้นฐานอาชีพ ในปีการศึกษา 2561 โดยได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ไปแล้ว ดร.บุญรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมให้โรงเรียนเปิดรายวิชาเพิ่มเติมที่มีความหลากหลาย เป็นแบบชุดวิชาที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งชุด เช่น ชุดขนมไทยซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำขนมไทยอย่างหลากหลายชนิด เป็นต้น หรือจัดให้มีชุมชน หรือ การเรียนแบบโครงงานมากขึ้น เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รวมถึงจะส่งเสริมให้โรงเรียนใช้ไอซีทีในการจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนอาจจะไม่สามารถสนองตอบความต้องการการเรียนอาชีพของนักเรียนได้เต็มที่เพราะจำนวนครูไม่เพียงพอ โรงเรียนก็จะเปิดตามความพร้อมของครู แต่ต่อไปนี้ สพฐ.ได้ปรับวิธีการด้วยการใช้ไอซีทีช่วยสอน โดยจะมีการจัดทำคลังบทเรียนทักษะอาชีพ คือ การรวบรวมอาชีพหรือสิ่งที่มีการสอนในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ หรือให้เขตพื้นที่การศึกษาจัดทำ VTR สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการสอนอาชีพ เป็นต้น เพื่อให้เด็กสืบค้นและเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละคน โดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตามที่สนใจ ไม่ใช่เปิดสอนตามที่ครูอยากสอน ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/83979

ศูนย์การเรียนรู้บ้านสารภี